Header Ads

แสวงหาความรู้ แชร์ประสบการณ์การสอน

 
     ในกิจกรรมค่ายพัฒนาอาจารย์มืออาชีพได้ถามถึงลักษณะความแตกต่างของอาชีพอาจารย์และอาจารย์มืออาชีพ ซึ่งในที่นี้จะขอสรุปลักษณะของอาจารย์มืออาชีพก่อน เนื่องจากตรงกับชื่อค่ายพอดี โดยจะพบว่า “อาจารย์มืออาชีพ” นั้นจะถูกมองในเรื่องของจริยธรรม คุณธรรม และจรรยาบรรณของวิชาชีพ เป็นหลัก และเป็นประเด็นแรกที่ถูกกล่าวถึง หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “ความเป็นครู” ซึ่งความเป็นครูนั้นจะครอบคลุมทุกๆด้าน ได้แก่ การมีจริยธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และจริยธรรมในการเป็นอาจารย์ การมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ การมีจิตวิญญาญานในวิชาชีพ

     ประเด็นรองลงมาของอาจารย์มืออาชีพที่ถูกกล่าวถึงคือ  จะเป็นเรื่องของการสอนหรือการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียน ซึ่งการสอนหรือการถ่ายทอดนี้จะต้องมีพื้นฐานของความเป็นครูอยู่ด้วย  กล่าวคือ อาจารย์จะต้องสอนหรือถ่ายทอดความรู้ จริยธรรม คุณธรรม และสิ่งที่ดีงามให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนดีและคนเก่งในเวลาเดียวกัน อาจารย์ต้องมีการสอนที่เป็นขั้นตอน สอนสนุกภายใต้กรอบจริยธรรมและคุณธรรม เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ผู้เรียน เป็น Coach และเป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน สำหรับประเด็นสุดท้ายของอาจารย์มืออาชีพในยุคนี้คือ อาจารย์ต้องมีความรู้ความสามารถในด้านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี (IT) ใช้ IT ประกอบการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม

     สำหรับ “อาชีพอาจารย์” จะถูกมองในมุมของการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ การสอน การอบรมบ่มนิสัยให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้เป็นคนเก่งสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ และเพื่อให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม ประเทศชาติ และประเด็นอื่นๆ ของอาชีพอาจารย์จะถูกกำหนดหรือบัญญัติไว้ตามกฏ ระเบียบของการเป็นอาจารย์หรือที่เรียกว่าพันธกิจของอาจารย์ ได้แก่ พันธกิจการสอน การวิจัย การบริหารงาน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งในนี้จะรวมถึงการมีจรรยาบรรณในวิชาชีพของอาจารย์
กล่าวโดยสรุป อาชีพอาจารย์และอาจารย์มืออาชีพ มีความเหมือนกันหรือแยกกันไม่ออกเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันในเรื่อง ประเด็นหรือมุมมองที่พูดถึงหรือกล่าวถึงเป็นอันดับแรกเพียงเท่านั้น

ศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน
25
60





 

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.