Header Ads

ถอดบทเรียน เปลี่ยนห้องเรียนสู่การสอนออนไลน์ "การออกแบบเป็นทีมด้วยเกมออนไลน์ : MINECRAFT"


กระบวนวิธีการสอนในห้องเรียนปกติ 

ในการเรียนการสอนรายวิชาที่เป็นเนื้อหาพื้นฐานเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฏีต่างๆ ผู้เรียนส่วนใหญ่มักจะมีกิริยาอาการเบื่อหน่ายไม่ค่อยสนใจเรียน ผู้สอนจึงจำเป็นต้องหาวิธีการสอนวางแผนออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความสนใจเรียนรู้ในรายวิชาพื้นฐาน ซึ่งผู้สอนต้องอาศัยความร่วมมือจากอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มาช่วยกันสอนและออกแบบกิจกรรรมการเรียนรู้ โดยนำหัวข้อเนื้อหาของรายวิชาพื้นฐาน มาแบ่งหัวข้อความรับผิดชอบ ซี่งการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ ผู้สอนมีเทคนิคกระบวนวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นแนวทางในการออกแบบการสอน ไว้ดังนี้ 

1. การ Lecture หมายถึง บทบาทผู้สอนจะเป็นผู้บรรยายหลักการ แนวคิดทฤษฏี เกี่ยวกับเนื้อหารายวิชาเพื่อผู้เรียนได้มีความรู้ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ฝึกปฏิบัติ บทบาทของผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมในการจดบันทึกข้อมูลเนื้อหาที่สำคัญ และต้องทำความเข้าใจเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง 

2. การ Assignment หมายถึง การที่ผู้สอนได้ให้ผู้เรียนนำความรู้จากการ Lecture เรียนรู้เนื้อหาหลักการที่สำคัญ มาประยุกต์ใช้ด้วยการสร้างผลงานออกแบบของตนเอง เช่น การเรียนประวัติการออกแบบ หลังการ Lecture จัดกิจกรรม สร้างผลงานออกแบบชุดในยุคประวัติศาสตร์ มีการแต่งตัวในยุคนั้นๆ และการนำเสนอเนื้อหาออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย เป็นต้น 

 3. สร้างทักษะการทำงานเป็นทีม หมายถึง ผู้สอนกำหนดให้ผู้เรียนจัดกลุ่มทำงานร่วมกัน ในการสร้างผลงาน เพื่อให้เกิดทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น 

4. การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น หมายถึง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รู้จักสนิทสนมกับเพื่อนในชั้นเรียน โดยให้ประสานพูดคุยแนะนำโปรไฟล์ของตนเองในการตั้งกลุ่มทำงานร่วมกัน

เกมออนไลน์ : MINECRAFT มาสู่กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างไร

จากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากห้องเรียนปกติสู่ห้องเรียนออนไลน์ โดยผู้สอนได้มีการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ (ผู้สอนต้องเอาใจผู้เรียนเป็นสำคัญ) และได้ตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรจะดึงความสนใจของผู้เรียนในเนื้อหาวิชาภาคทฤษฏีที่สอนได้ จึงได้คิดหาแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้

1. ผู้สอนสำรวจความคิดเห็นสอบถามผู้เรียน ผ่านช่องทางไลน์ Line Group หรือ Facebook ว่านักศึกษาส่วนใหญ่ชอบอะไร พบว่า ชอบเล่นโทรศัพท์ และเล่นเกม และสอบถามว่าชอบเล่น เกมอะไรบ้าง คำตอบ มีการเสนอเกม 2 เกม Miniworld และ Minecraft โดยผู้เรียนเป็นผู้เสนอกับผู้สอน 

ภาพที่ 1 ตัวอย่างความสนใจของผู้เรียนในปัจจุบัน

2. ผู้สอนพิจารณาตรวจสอบและเลือกเกม ที่มีความเหมาะสม เพื่อนำมาเสนอกับการเรียนการสอน โดยได้นำเสนอเกม MINECRAFT เพื่อทำโปรเจค Final project พบว่า นักศึกษาให้ความสนใจมาก 

3. ศึกษาข้อมูลเรียนรู้เกี่ยวกับเกม MINECRAFT จากนักศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ และให้นักศึกษาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ด้านเทคนิคเกี่ยวกับเกม เพื่อสร้างกรอบการเรียนรู้หรือการส่งงานที่เป็นธรรมกับผู้เรียนทุกคน

MINECRAFTกับการเรียนรายวิชา  คืออะไร

ไมน์คราฟต์ (Minecraft) คือ เกมสี่เหลี่ยม เป็นเกมที่สร้างสรรค์จินตนาการที่ให้ผู้เล่นสามารถสร้างบ้าน สร้างอาวุธ ปลูกผักปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งในระบบเกมจะแบ่งเป็น 6 โหมด คือ โหมดเอาตัวรอด โหมดฮาร์ดคอร์ โหมดสร้างสรรค์  โหมดผจญภัย โหมดผู้ชม โหมดหลายผู้เล่น ในแต่ละโหมดจะมีเครื่องมืออุปกรณ์ครบ ให้ผู้เล่นสามารถสร้างออกแบบได้หลากหลาย ดังนั้นสาขาดิจิทัลมีเดีย ในรายวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ เมื่อผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาพื้นฐานทางด้านทฤษฏีแล้ว ก็จะสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสร้างจินตนาการเป็นของตนเอง ด้วยเกมMinecraft ในระบบโหมดสร้างสรรค์ โดยผู้สอนมีโจทย์ให้ผู้เรียนทำผลงานสร้างสรรค์ Final Project แบบเป็นทีม หรือเดี่ยวก็ได้ โดยมีทีมโค้ชอาจารย์ผู้สอนที่รับผิดชอบเนื้อหาในแต่ละส่วนคอยชี้แนะให้คำแนะนำผู้เรียนในการออกแบบ ตั้งแต่ เริ่มต้นจนถึงขั้นของการประเมินผลการเรียนรู้ภาคทฤษฏีของเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการเรียนภาคทฤษฏีที่สามารถกระตุ้นสร้างความสนใจให้กับผู้เรียนเพิ่มขึ้น

ไมน์คราฟต์ (อังกฤษ: Minecraft) เป็นวิดีโอเกมแซนด์บอกซ์ที่สร้างขึ้นโดยนักออกแบบเกมชาวสวีเดน มาร์คุส แพร์ช็อน (Markus Persson) หรือที่รู้จักกันในชื่อ น็อตช์ (Notch) ด้วยภาษาโปรแกรมจาวา และพัฒนาโดยโมแจงสตูดิโอส์ (Mojang Studios) มีการปล่อยเออร์ลีแอ็กเซส (early access) สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 และมีการปล่อยเกมตัวเต็มในปี พ.ศ. 2554 โดยเยนส์ แบร์เยนสเตียน (Jens Bergensten) เข้ามาพัฒนาเกมต่อจากแพร์ช็อนตั้งแต่ตอนนั้น ไมน์คราฟต์สามารถเล่นผ่านได้ในหลากหลายแพลตฟอร์มและเป็นเกมที่ขายดีที่สุดตลอดกาลด้วยยอดขายถึง 200 ล้านชุด และผู้เล่นต่อเดือน 126 ล้านผู้เล่น ในช่วงปี พ.ศ. 2563 (ที่มาจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org/wiki/ไมน์คราฟต์#โหมดสร้างสรรค์) (ดังภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 หน้าแรก ของเกม Minecraft

กระบวนการจัดการเรียนรู้ห้องเรียนออนไลน์ กับกิจรรมการเรียนรู้ผ่านเกม Minecraft

1. สร้างประชุมทีมผู้สอน คือ การสอนรายวิชาภาคทฤษฏีพื้นฐาน “ประวัติศาสตร์ศิลป์” จะมีอาจารย์มาช่วยกันสอนและแบ่งเนื้อหาความรับผิดชอบตามความเชี่ยวชาญ ในการให้คำปรึกษา ชี้แนะผู้เรียน ในการทำงานของผู้เรียน (ดังภาพที่ 3-4) 

 
ภาพที่ 3 ทีมโค้ชคณะดิจิทัล ร่วมกันสอนรายวิชาภาคทฤษฏี “วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์”


ภาพที่ 4 หัวข้อเนื้อหาที่โค้ชรับผิดชอบและบรรยากาศห้องเรียนออนไลน์

2. จัดตารางเข้าสอนออนไลน์ คือการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ เช่น บรรยาย, ดู Line หรือFacebook ตอบคอมเม้นนักศึกษา ดูแลกลุ่มแยกห้องเรียนออนไลน์ เป็นต้น (ดังภาพที่ 2)

3. การจัดกลุ่มผู้เรียน คือการสำรวจศึกษาข้อมูลจำนวนนักศึกษาทั้งหมด เพื่อวางแผนการจัดกลุ่มนักศึกษา มอบหมายการจัดกลุ่มในการทำกิจกรรม เช่น ปี 1 ให้นักศึกษาประสานกันผ่าน Line และมีการจัดกลุ่มผ่านกระดานห้องเรียน Application pellet เป็นต้น

4. การสร้างการทำงานเป็นทีม คือการให้ผู้เรียนเลือกหน้าที่ความรับผิดชอบตามความถนัดและอุปกรณ์ ผู้เรียนบางคนมีความพร้อมและถนัดการใช้เกม Minecraft ในการก่อสร้าง จะเลือหน้าที่เป็นผู้วางแผนก่อสร้าง     ผู้คุมงานและดูแลด้านเทคนิค กรรมกร และผู้ควบคุมกล้อง ส่วนคนที่ไม่ถนัดเกมนี้สามารถเลือหน้าที่ตัดต่อส่วนคนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านจะรับหน้าที่ออกแบบ เป็นต้น

5. การให้โจทย์ Assignment คือ ผู้สอนต้องสร้างโจทย์ที่น่าสนใจ ไม่ตีกรอบความคิด และอาจให้แรงเสริม เช่น โจทย์การออกแบบและสร้างมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยมีผังแผนที่เป็นตัวนำทาง และอยู่ในเนื้อหาสไตล์ศิลปะยุคอารยะธรรม/ลัทธิที่สนใจ ตามหัวข้อที่เรียนในชั้นเรียนมาแล้ว เป็นต้น มีการกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวกับงานและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (ดังภาพที่ 5-6)

ภาพที่ 5 การAssignment กิจกรรมให้กับนักศึกษา

ภาพที่ 6 บรรยากาศการเรียนการสอนของทีมโค้ชหรืออาจารย์ผู้สอนในแต่ละหัวข้อเนื้อหา

6. การประเมินผล คือ ผลของการทำงานเป็นทีม ผู้เรียนต้องสามารถบอกระบุได้ในหน้าที่ของตนเองที่รับผิดชอบหรือมีส่วนร่วม ใน Final Project โดยมีอาจารย์ที่ดูแลกลุ่มและคอยคอมเม้น ทำหน้าที่เป็นโค้ชในการประเมินผู้เรียนของตนเอง (ดังภาพที่ 7)

ภาพที่ 7 การ Comment ของทีมโค้ช ในการตรวจชี้แนะให้คำปรึก ผลงานนักศึกษา

ตัวอย่างผลงานนักศึกษาจากการสร้างผลงานจากเกม Minecraft ผ่านห้องเรียนออนไลน์ ดังภาพที่ 8-11
ภาพที่ 8 ผลงานนักศึกษากลุ่ม P1 JESUS CHRIST

ภาพที่ 9 ผลงานนักศึกษากลุ่ม P1 JESUS CHRIST

ภาพที่ 10 ผลงานนักศึกษากลุ่ม T5 

ภาพที่ 11 Final Project กลุ่มนักศึกษาไก่อบชีส

แหล่งรวมตัวอย่าง Link VDO ผลงานนักศึกษา คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม

โดย อาจารย์เปรมวดี วินิจฉัยกุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรากร ใช้เทียมวงศ์
คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม



ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.