Header Ads

Learning @SPU CEO Talk



AAR (after action reflection) จากการฟังบรรยาย ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี วันนี้ ขอแชร์ความคิดเห็นสรุปมา ครับ .. ได้ประโยชน์ข้อคิด มากกว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 

Learning @ SPU CEO Talk ...  วันนี้ได้เรียนรู้แบบเต็มอิ่ม ในหลายประเด็นจาก ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทั้งด้าน ความสำคัญของการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ การบริหารงาน การเล่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องยากๆให้เข้าใจง่ายๆ แบบสนุกเข้มข้นไปด้วยข้อมูล ถอดความเป็นข้อคิดที่ดีไปใช้กับการบริหารองค์กรได้ในเรื่องของ “Purpose & Attitude”

ยุทธศาสตร์ = เป้าหมาย + วิธีการ  .. ดังนั้นการมียุทธศาสตร์ เป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกัน ให้การดำเนินการทำงานของส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆเป็นไปเพื่อบรรลุความสำเร็จร่วมกัน โดยไม่ได้ยึดติดเพียง กฏหมาย (ของประเทศ) หรือ กฏระเบียบ หรือข้อกำหนด (ของบริษัท) เฉพาะในมุมมองส่วนตัวเอง .. ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมากมาจากการที่กฏระเบียบต่างๆจะสามารถตีความได้หลากหลายแบบ ทั้งในมุมของตนเองหรือในมุมของประโยชน์ส่วนรวม จึงทำให้เกิดการทำงานที่ขัดแย้งกัน สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศหรือองค์กร หากทุกๆส่วนไม่ได้ออกแบบการทำงานที่ยึดเป้าหมายหรือความสำเร็จร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ประเทศไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาวมาก่อน มีเพียง แผนเศรษฐกิจพัฒนาสังคม ทุกๆระยะ 5 ปี ทำให้ขาดความมั่นใจของประชาคมโลก หรือแม้แต่นักธุรกิจในประเทศ (รวมถึงการจัดการการศึกษา) ต่อทิศทางที่แน่นอนของประเทศไทย เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายรัฐก็มักเปลี่ยนใหม่  การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นกฏหมาย ทำให้มีเป้าและวิธีการที่ชัดเจนขึ้น โดยหน่วยงานรัฐทั้งหมดต้องดำเนินการภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ตามรายละเอียดในแผนแม่บททีมสืบเนื่องมา ไม่ใช่เพียง นโยบายของรัฐบาลที่สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยง่าย
ยุทธศาสตร์จะสำเร็จได้ต้องใช้เวลา และมีคนช่วยร่วมกันทำ ทำให้เกิดการปฏิรูป หรือ reform ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการ Reform จะให้สำเร็จได้ มีปัจจัย 3P คือ Purpose (มีเป้าหมายที่ชัดเจน) / Process (มีกระบวนการกำหนดไว้) / Public (มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง)

รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงเป็น King of Reform ของประเทศ ตามที่เราได้ประจักษ์ถึงสิ่งที่ท่านได้ทำมา โดยพระองค์ท่านระบุไว้ชัดเจนว่า การจะปฏิรูปประเทศได้ สำเร็จ ต้องปรับทัศนคติของข้าราขการหรือบุคลากร ให้มีใจต่อการทำงานเพื่อประชาชน และ ปรับ กฏหมาย กฏระเบียบ ให้เอื้อต่อการ reform ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการพัฒนา

ปัญหาในการพัฒนาประเทศในปัจจุบันและที่ผ่านมา ก็ยังคงอยู่ที่ ทัศนคติของผู้ปฏิบัติในหน่วยงานรัฐต่างๆ และรวมถึง กฏหมาย ที่ไม่ทันสมัย
- คนทัศนคติดี กฏระเบียบไม่ดี ยังพออยู่ได้
- คนทัศนคติไม่ดี ถึงกฏระเบียบดี จะอยู่ได้ยาก
- คนทัศนคติไม่ดี กฏระเบียนก็ไม่ดี จะอยู่กันไม่ได้
... หน่วยงานเอกชนก็เช่นกัน Purpose & Attitude จึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานขององค์กร

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.