Header Ads

"เปลี่ยน" ให้ทันเด็ก "ปรับ" ให้เป็นครูพันธุ์ใหม่ ทางรอดธุรกิจการศึกษายุคดิจิทัล

"เปลี่ยน" ให้ทันเด็ก "ปรับ" ให้เป็นครูพันธุ์ใหม่
ทางรอดธุรกิจการศึกษายุคดิจิทัล

เรื่องของการศึกษาถือว่าเป็นโครงสร้างหลักในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนการเลือกหลักสูตรการเรียนรู้จะเป็นไปตามกระบวนการที่กระทรวงศึกษาธิการจัดเตรียมไว้ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็จะเลือกตามความต้องการของผู้ปกครอง ตามเพื่อน หรือสังคมที่บังคับให้เป็นไป แต่ในยุคนี้ ต้องยอมรับว่าความต้องการของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนไป พวกเขาอยากเลือกในสิ่งที่ต้องการมากขึ้น
แม้แต่มหาวิทยาลัยเอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยด้วยการหาหลักสูตรที่ทันกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ และค้นหาคนเก่งที่มีความสามารถเฉพาะด้านมาถ่ายทอดความรู้ เพื่อที่เด็กๆ จะได้ไม่ต้องไปเรียนเสริมหรือเพิ่มเติมจากนอกห้องเรียน
ทีมงาน thumbsup ได้รับเกียรติสัมภาษณ์ ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เกี่ยวกับการปรับมหาวิทยาลัยให้ทันต่อยุคสมัยและพฤติกรรมของเด็กนักศึกษาในยุคนี้


วิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมธุรกิจการศึกษาในยุคนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ดร.รัชนีพร : การศึกษาในยุคนี้ ก็ต้องเรียกว่ามีการปรับตัวอยู่เยอะนะคะ เพราะว่านักศึกษาเปลี่ยนไป กลุ่มเป้าหมายนักศึกษามีมากขึ้น องค์ความรู้เปลี่ยนไป จำนวนประชากรลดลง จะเป็น 4 ปัจจัยหลักๆ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง ด้วยมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนมาก สวนทางกับจำนวนประชากรที่ลดลง แต่ขณะเดียวกันที่นั่งในมหาวิทยาลัยในหลักสูตรมีมากขึ้น เป็นเรื่องดีของนักเรียนที่จะเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาอะไรก็มีทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาวิชาใหม่ๆ สำหรับสังคมในอนาคตข้างหน้าก็เป็นโอกาสดีของนักศึกษาสมัยนี้





คณะหรือภาควิชาที่เด็กนิยม

ดร.รัชนีพร :  เราไปบอกว่าเขาชอบเรียนวิชาไหนของภาพรวมเด็กทั้งประเทศไม่ได้ แต่หลังจากที่เราสัมภาษณ์เด็กใหม่ เพราะนักศึกษาแต่ละคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น แต่ละคนอยากเรียนในสิ่งที่ชอบ เมื่อชัดเจนก็รู้ว่าอยากเรียนอะไร เขาลงทุนทำ research เลยว่ามหาวิทยาลัยไหนมีวิชาที่ชอบ มีจุดเด่นอะไร และเขาก็จะตัดสินใจไปมหาวิทยาลัยนั้น ซึ่งไม่ได้เลือกแค่ชื่อเสียง แต่ดูจากสาขาวิชาที่ชอบ และวิชาไหนถูกจริตกับเขา ซึ่งสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับสาขาวิชาด้วย เช่น มีหลักสูตรรายวิชาที่น่าสนใจ มีระบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ได้เรียนกับตัวจริงผู้มีประสบการณ์จริงและได้ปฏิบัติเยอะๆ
อันนี้จากการสอบถามเด็กนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์พบว่าน่าสนใจ เด็กสมัยนี้เปลี่ยนไปไม่เหมือนรุ่นเราที่เลือกตามเพื่อนบ้าง หรือจากธุรกิจที่บ้านแต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว เขาไม่ได้เลือกตามสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เลือก เด็กวันนี้กลายเป็นว่าเขาจะเลือกตามสิ่งที่เขาชอบและค้นข้อมูลเองว่ามหาวิทยาลัยใดน่าสนใจตามสิ่งที่เขาสนใจ

ปรับหลักสูตรให้ทันกับเด็กยุคใหม่

ดร.รัชนีพร : ถ้าพูดถึงเฉพาะของมหาวิทยาลัยศรีปทุมนะคะ ทุกหลักสูตรปรับตัวหมด ปรับหลักสูตรว่าการเรียนการสอนว่าวิชาไหนควรเรียน วิชาไหนเรียนเพื่ออนาคตและเรียนจบไปทำงานได้ ไม่ได้เรียนเฉพาะสิ่งที่เลือกในหลักสูตรยังเปิดให้เลือกวิชาเลือกเสรี และวิชาโทจากคณะอื่นๆ ได้ทั้งมหาวิทยาลัยนะคะ
จากข้อจำกัดที่เคยเป็นหลักสูตรที่เคยเฉพาะทางมากๆ ในระยะเวลา 4 ปีได้เรียนเฉพาะสาขาวิชาหลักของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่หลักการของทางศรีปทุมแล้ว เราเปลี่ยนให้เด็กไปช้อปปิ้งได้เลย ว่าอยากเรียนอะไร เช่น เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วอยากเรียนกราฟิกดีไซน์ของคณะดิจิทัลมีเดีย หรือถ้าอยากเรียนรายวิชาที่เกี่ยวกับเรื่องของทีวีและฟิล์มก็สามารถไปเลือกได้เลย เราเปิดให้เป็นรายวิชาพิเศษจากศาสตร์อื่นๆ สำหรับการลงทะเบียนเรียนในทุกหลักสูตรเป็นการเปิดพื้นที่ว่างเอาไว้อย่างน้อย 15-30 หน่วยกิต ให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนเพิ่มเติมในสิ่งที่ตนเองสนใจได้



การ reskill ของวัยทำงาน

ดร.รัชนีพร : ต้องบอกว่าเราแบ่งหลักสูตรกลับมาเรียนใหม่ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง คือ executive program เช่น ABC, DEF, DNA, Eve rest, The Wealth หลักสูตรพวกนี้สำหรับผู้บริหารที่อยากกลับมาเฟรชอัพ หรือเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้ เช่น หลักสูตร DEF ที่จะเน้นเรื่องของการค้าขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซว่าทำอย่างไร มีกลยุทธ์หรือแนวคิดอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรที่ชื่อว่า DNA ก็จะเป็นในเรื่องของดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ส่วนหลักสูตร ABC ก็จะเป็นเรื่องของการใช้สมองสองซีก ทั้งซ้ายและขวา ในเชิงเหตุผลและความเป็นศิลปิน เราเอาทั้งสองซีกนี้มารวมกันและให้นักศึกษาเรียน ซึ่งผู้บริหารจะชอบมาก เพราะโลกของเขาจะมีแต่ธุรกิจอย่างเดียว พอมาเรียนแล้วเขาก็ชอบเพราะมีการเปิดโลกทัศน์เขาและก็ unblock creativity ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มาก
อีกกลุ่มหนึ่งเราจะเรียกว่า หลักสูตร upskill หรือ reskill ที่วันนี้มีถึง 18 หลักสูตรแล้วในคณะต่างๆ เพราะวันนี้โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เรื่องของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกๆ วิชาชีพ ดังนั้น กระบวนการทำงานต่างๆ จึงเปลี่ยนไป แนวทางธุรกิจต่างๆ ก็เปลี่ยนไป จากที่เคยเรียนจบปริญญาตรีมาและทำงานตามสายวิชาที่ตนเรียน วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็เลยมีหลักสูตรชวนกลับมารีสกิล มาอัพเดททักษะใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ
โดยจะเป็นการนำผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในธุรกิจจริงมาสอน มาแนะนำเขา และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็จะมี upskill หรือ reskill หลายหลักสูตรด้วยกัน เช่นหลักสูตร IoT ที่วันนี้เป็นเรื่องของอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์แล้ว ชีวิตเราทุกอย่างหรือในบ้านเราก็เป็นอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว พอเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาลองคิดดูว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร ธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราเชิญเขามาค่ะ มารีสกิลใหม่และเอากลับไปใช้ในธุรกิจอย่างไร เป็นต้นนะคะ

ความสนใจของผู้เรียนกับหลักสูตรใหม่เป็นอย่างไรบ้าง

ดร.รัชนีพร : หลักสูตร upskill หรือ reskill ตอนนี้มี 18 หลักสูตร เรียกได้ว่ามีการเปิดอย่างเป็นทางการปีแรก ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการก็ให้การสนับสนุน ทั้งยังเป็นสิ่งที่เราเพิ่งเริ่มต้นและคนสนใจเยอะมาก แต่ละหลักสูตรมีคนสนใจ 100 กว่าคนต่อการหลักสูตรแต่ละครั้ง และเรายังต้องพัฒนาต่อ หลักสูตรไหนถ้ายังอยู่ในเทรนด์อยู่ในกระแสก็คงมีเปิดสอนต่อไป แต่ถ้าหลักสูตรไหนที่ยังไม่ได้ทำและวิเคราะห์แล้วว่าเป็นที่ต้องการของนักศึกษา เทรนด์ไปทางไหน สังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราก็จะต้องรีบตามให้ทัน เพราะฉะนั้นก็ยังต้องมีหลักสูตรใหม่ๆ ต่อไปค่ะ



เรียนกับโค้ชเจ๋งกว่าเรียนในหลักสูตรจริงหรือไม่

ดร.รัชนีพร : สำหรับที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมทุกหลักสูตรเราเปลี่ยนหมด เราไม่ได้เปลี่ยนแค่หลักสูตรรายวิชาเท่านั้นนะคะ แต่เรายังเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนด้วย เรามีศูนย์พัฒนาคณาจารย์เพื่อที่จะปรับมายด์เซ็ทของอาจารย์ ปรับวิธีการสอนของอาจารย์แบบใหม่ที่เราเรียกว่าเป็นการสอนในศตวรรษที่ 21
ซึ่งแน่นอนค่ะว่าอาจารย์ต้องเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี เรียนรู้ในเรื่องของการสอนเด็กรุ่นใหม่ที่เขาเติบโตมาด้วยเทคโนโลยีที่มีวิธีคิดเปลี่ยนไป เราจะดำเนินการในการจัดการเรียนการสอนอย่างไร ที่สำคัญคือเราจะเน้นเรื่องของ Project Base Learning มากขึ้น เพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้และลงมือทำจริงใน Project ต่างๆ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะหลายคณะของมหาวิทยาลัยเปิดกว้างให้เด็กได้ทำหลายโปรเจคที่ต่างกัน ซึ่งหลังจากที่เขาเรียนจบไปแล้ว เขาก็จะกลายเป็นบันฑิตพันธุ์ใหม่จริงๆ
ส่วนการเป็นโค้ชเราพยายามปรับอาจารย์ ว่าอาจารย์ต้องเปลี่ยนตัวเองไม่ใช่อยู่บนกระดานและพาวเวอร์พ้อยท์ชุดเดิม พอเป็น Project base learning เนี่ย อาจารย์ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นโค้ชนะคะ

โอกาสเปิดกว้างรับการเปลี่ยนแปลง

ดร.รัชนีพร : ความโชคดีของเด็กในวันนี้คือการได้เรียนระบบใหม่แล้วก็เรียนในเทคโนโลยีวิธีคิดใหม่โดยเฉพาะโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น ไม่ได้ถูกบังคับว่าต้องเรียนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เราเปิดให้ช้อปปิ้ง อยากเรียนตัวไหนจากเบสิคที่เรามีก็ได้ ซึ่งเป็นอะไรที่บอกตรงๆ ว่าสมัยเราเนี่ยไม่มี รุ่นปัจจุบันเปิดกว้างมากเป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับการเรียนยุคนี้ค่ะ

ความร่วมมือกับภาคเอกชน

ดร.รัชนีพร : เราผลักดันเป็นอย่างมากเลยค่ะ ผลักดันตั้งแต่อาจารย์จนมาถึงนักศึกษา ทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเนี่ย จะร่วมมือกับภาคเอกชน การร่วมมือกับภาคเอกชน อุตสาหกรรมหรือธุรกิจเนี่ย หนึ่งตั้งแต่มาช่วยกันปรับปรุงหลักสูตร สองเป็นที่ฝึกงานสำหรับนักศึกษา
หลักสูตรของเราทุกหลักสูตรจะมีสหกิจศึกษาคือนักศึกษาในชั้นปีสุดท้ายจะต้องออกไปทำงานจริงในบริษัท เป็นเวลาหนึ่งเทอม จะไปทำงานจริงเลยนะคะจะมีเป้าหมายว่าการไปทำงานต้องทำโปรเจคกับบริษัท ซึ่งอันนี้เป็นประโยชน์กับทั้งมหาวิทยาลัย นักศึกษาและผู้ประกอบการนะคะ



ความร่วมมือกับต่างประเทศ

ดร.รัชนีพร : เรามีหลักสูตรความร่วมมือระหว่างประเทศที่ชื่อว่า 2+2 และ 3+1 โดยจะเป็นการส่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่เรียนไปแล้ว 2 ปี ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 2 ปี ไม่ว่าจะเป็น Xi’ an University, Guizhou University, Sugiyama University, Griffith University และ Swiss College of Hospitality Management เป็นต้น แต่ที่จริงเรามีความร่วมมือกับอีกมากมาย แต่เป็นรูปแบบที่แตกต่างกัน
การผลักดันให้เกิดโครงการเหล่านี้ เป็นเพราะโลกหมุนไวมาก และหลายประเทศมีความรู้เฉพาะทางที่ดี เหมาะที่จะเข้าไปหาความรู้ โดยเฉพาะจีนที่เป็นมหาอำนาจจริงๆ และเขามีเทคโนโลยีที่เดินหน้าไกลมากเห็นได้จากการทำเรื่อง 5G, Smart City หรือสร้างเมืองศูนย์กลางเพื่อพัฒนารถไฟฟ้าของจีน เรามีการส่งนักศึกษาคณะวิศวะระบบรางไปเรียนต่อ 1 ปี เพื่อกลับมาพัฒนาความรู้ให้กับคนในประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการส่งเด็กจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น เพื่อไปเรียนรู้เรื่องงานไม้ที่สามารถก่อสร้างบ้านโดยไม่ต้องใช้ตะปู เป็นการเปิดกว้างด้านทักษะการก่อสร้างให้เด็กรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการผลักดันเด็กไทยให้มีความสามารถทัดเทียมระดับโลกนั้นจะช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศในอนาคตให้แข็งแรงสู้กับต่างประเทศได้เลยค่ะ

ทิ้งท้าย

จากบทสัมภาษณ์นี้จะเห็นได้ว่า การศึกษายุคใหม่เป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการ ดังนั้น การเป็นอาจารย์ โค้ช โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยยุคใหม่ จะให้ความรู้แบบเดิมไม่ได้ เพราะดิจิทัลทำให้โลกเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ว่าอยู่วงการธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไหนก็ต้องปรับตัว และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ก็เรียกได้ว่ามีแนวคิดและการปรับตัวในยุคที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ ด้วยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ หรือแม้แต่ค้นหาบุคลากรที่มีความสามารถมาให้ความรู้และพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ให้เรียนรู้และสร้างคนที่มีความสามารถเพื่ออนาคต


ที่มา: thumbsup

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.