Header Ads

ท่องเที่ยวมิติใหม่ ผู้มี Passion ออกแบบนวัตกรรมสำหรับนักเดินทาง



เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับคณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง จัดเสวนาพิเศษ Tech Talk Season 4#3 ในหัวข้อ "ท่องเที่ยวมิติใหม่ ผู้มี Passion ออกแบบนวัตกรรม สำหรับนักเดินทาง" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ คือ ดร.บารมี นวนพรัตน์สกุล หรือคุณยอด ผู้ประกาศข่าว ช่อง 3 ณ ห้อง Auditorium 1 อาคาร 40 ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม พอสรุปประมวลความได้ดังต่อไปนี้

ดร.บารมี นวนพรัตน์สกุล เล่าว่า ตอนเป็นเด็กขณะเรียนชั้นมัธยมศึกษานั้น ตนเองเป็นคนที่ตั้งใจเรียนหนังสือมาก โดยสามารถสอบเทียบได้ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สอบเอ็นทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นหลักสูตรที่เรียนในประเทศไทย 1 ปี และไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ขณะนั้นอายุได้ 22 ปี  ในห้องเรียนมีนักศึกษา จำนวน 50 คน มีนักศึกษาไทย 2-3 คน แต่นักศึกษาของไทยเราไม่ค่อยกล้าแสดงออก ผิดกับนักศึกษาชาวอเมริกันที่กล้าแสดงออกและชอบพูดเป็นอย่างมาก อยู่ที่อเมริกา 4 ปี หลังเรียนจบปริญญาโท ได้ทำงานเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมที่ City of Chicago, Department of Environmentเมืองชิคาโค สหรัฐอเมริกา เงินเดือน 2,000-3,000 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 1 แสนกว่าบาท ค่าเช่าห้องก็ร่วม 2,000 ดอลล่าร์ ต้องแชร์กันกับเพื่อน หลังจากนั้นได้ลาออกจากงานมาทำงานในร้านอาหารญี่ปุ่นที่ชิคาโกอยู่ครึ่งปี (https://th.wikipedia.org) เพื่อเรียนปริญญาเอกไปด้วย แต่เรียนยังไม่ทันจบคุณแม่กอยากให้กลับประเทศไทย เพราะอยู่อเมริกานานแล้ว กลับมาที่ประเทศไทยเข้าทำงานเป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อมที่ศูนย์กฏหมายสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และวิศวกรสิ่งแวดล้อมในบริษัทที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กรุงเทพฯ และได้ลาออกมาสู่งานสายข่าวเต็มตัว โดยเคยทำงานอยู่ที่ Nation Channel, ทำงานด้าน IT อยู่ช่อง 9, คอลัมน์ IT หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และทำงานอยู่ไทยทีวิสีช่อง 3 เป็นเวลา 10 ปี


 ในเวลาต่อมาได้ผลิตรายการป้อนให้กับช่อง 3  เป็นลักษณะงาน Event เสริม และได้มีโอกาสรู้จักกับคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หรือว่า ป้อม แห่งบริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด เขาได้โพสต์เกี่ยวกับ Status ของเขาในเฟซบุ๊ค ด้านการท่องเที่ยว และเขาต้องการ CEO อยู่ จึงได้เข้าไปคุยกับคุณภาวุธ และได้ทำงานร่วมกัน ในช่วงแรกได้ทำเกี่ยวกับการขายตั๋วบัตรท่องเที่ยว เช่น สวนน้ำ บัตรสวนน้ำ เช่น สวนสยาม, Agoda, Expedia และการ Booking ซึ่งสามารถจองได้ล่วงหน้า ในตอนนั้น ยังไม่ค่อยมีคนทำ ประกอบกับคนไทยนิยมไปซื้อบัตรหน้างาน แต่คนต่างประเทศเขานิยมซื้อบัตรทางออนไลน์ ดังนั้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ 80% ส่วนใหญ่เป็นคนในยุโรปที่ชอบการเดินทางท่องเที่ยว และเป็นคนไทยอีก 20% สำหรับการขายตั๋วบัตรท่องเที่ยว ต้องมีใจรัก (Passion) แรกๆ ซื้อมา 500 บาท และนำไปขาย 700 บาท ปรากฏว่า ขายได้ ต่อมามีการโปรโมทซื้อ 1 แถม 1 ก็ยังคงมีลูกค้าซื้อเข้ามาอย่างหนาแน่น ในลำดับต่อมา ทางเราได้เน้นขายให้กับลูกค้าทัวร์ภายในประเทศ เช่น วัดพระแก้ว, ตลาดน้ำ แต่ก็ยังมีคู่แข่งอีก เพราะว่าสามารถเลียนแบบกันได้ง่าย ดังนั้น ทางบริษัทของเราจึงเพิ่ม Service เข้าไป เช่น บริการมีรถไปรับที่โรงแรม เป็นต้น

คราวนี้มาลองมาดูความหมายของคำว่า SME กับ Startup ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน  SME นั้น คือการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ตัวอย่าง เช่น ร้านชานมไข่มุก, เถ้าแก่น้อย หรือ Starbucks เริ่มแรกก็มีเพียงร้านเดียวก่อน พอขายได้ดี ก็แตกสาขาย่อยออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกระจายสาขาออกไปทั่วโลก SME นั้นเวลาจะลงทุนต้องไปขอเงินกู้กับธนาคาร ส่วนคำว่า Startup คือการทำธุรกิจให้เร่งเติบโตเร็วที่สุด นั่นคือ ต้อง Scale ได้เร็ว และมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น Facebook, Netflix, Uber, Grab เวลาลงทุนเขาจะหานักลงทุนมาลงทุน หรือการนำไอเดียไปนำเสนอเพื่อขอเงินลงทุน และการแสวงหาผู้ร่วมลงทุนทางการค้า (Pitching) ซึ่งไม่มีการเสียดอกเบี้ยหรือแม้กระทั่งการประกวดแข่งขันไอเดียกันก็มี การทำ Startup ไม่ใช่เป็นเรื่อง่าย 100% เพราะมีโอกาสล้มเหลวถึง 90% และที่รอดก็มีน้อยมาก การทำ Startup นั้น ต้องสร้างไอเดียออกมานำเสนออย่างเป็นรูปธรรม ในการทำธุรกิจนั้น ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกัน คือ (1). ความหลงไหล (Passion) หมายถึง หากเราต้องการจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องเป็นสิ่งที่ตนเองมีความชอบหลงไหล ถึงแม้ว่า จะเจอปัญหาอุปสรรคที่ยุ่งยากสักเพียงใด ก็ยังอยากทำธุรกิจนั้นอยู่ ต้องมีความมุมานะอดทนฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปให้ได้ อย่าท้อถอยล้มเลิกกลางคันเด็ดขาด ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ค เป็นคนที่เก่งมาก สามารถสร้างธุรกิจของตนเองให้ถึงระดับยูนิคอร์น (Unicorn) ได้ ยูนิคอร์นหมายถึงโอกาสที่สร้างสตาร์ทอัพให้มีมูลค่าได้ถึง 1 พันล้านเหรียญ (2). ความยืดหยุ่น (Versatility) บางคนไม่ยอมรับความจริง เช่น คุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เขายอมรับความจริง คือเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ใน ปี พ.ศ.2540 หลังจากที่ทางรัฐบาลได้ประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้หลายคนที่เคยเป็นเศรษฐีในอดีตกลายเป็นยาจกในชั่วข้ามคืน คุณศิริวัฒน์คือหนึ่งคนในจำนวนนั้น โดยถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย มีหนี้สินร่วมพันล้านบาท แต่เขามีความยืดหยุ่นและยอมรับความจริงของตนเองอย่างไม่อาย ผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายแซนวิช หรือที่รู้จักนาม “ศิริวัฒน์แซนวิช” เขาได้นำแซนวิชไปขายตามหน้าธนาคาร โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรือแม้กระทั่งตามบริเวณหน้าวัด ในที่สุดเขาสามารถมีชิวิตกลับมายืนใหม่ได้อีกครั้ง กลับมาร่ำรวยได้เหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขามีความยืดหยุ่น ไม่ท้อแท้ ยิ้มสู้ด้วยหัวใจที่บากบั่นและแน่วแน่ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ ค่ายเพลง RS เขายอมรับตนเองว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคขาลงของธุรกิจค่ายเพลง เพราะคนหันไปฟังเพลงทางออนไลน์ อย่างยูทูบกันหมด การทำธุรกิจค่ายเพลงในยุคนี้จึงไม่น่าจะใช่ เขาจึงหันไปทำธุรกิจเครื่องสำอาง ทางช่อง 8 และมีกำไรมหาศาลจากการทำธุรกิจนี้ เป็นต้น (3). ความเป็นผู้นำ (Leadership) คนไทยเราส่วนใหญ่เกรงใจกันมากเกินไป ในต่างประเทศเขาเพื่อนก็คือเพื่อน ธุรกิจก็คือธุรกิจ แต่คนไทยเราส่วนใหญ่แยกไม่ออกว่าอันไหนคือเรื่องส่วนตัว อันไหนคือเรื่องงาน ปนเปกันไปหมด จึงทำธุรกิจกันได้ยาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องคุยกันด้วยเหตุผล การทำธุรกิจการท่องเที่ยว ต้องมีการออกแบบนวัตกรรมเรื่องการเดินทางให้มีความเหมาะสม เช่น ข้อมูลที่ต้องการให้แสดงบนหน้าเว็บไซต์ ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าให้ถูกต้อง เช่น ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เขานิยมที่จะไปเที่ยววัดพระแก้ว นิยมไปเที่ยวตลาดน้ำ เป็นต้น ตอนเริ่มทำ Startup ใหม่ๆ นั้น มีคนแนะนำให้เข้าไปอยู่ใน Dtac Accelerate คือได้ทำ Tixget.com เข้าไปร่วมกับ Startup Thailand และได้รับรางวัล Dtac Accelerate Batch #5 เขาให้ไปแข่งที่ประเทศเดนมาร์ค มาเลเซีย และจีน มีสื่อมาสัมภาษณ์มากมาย


ถ้าหากใครอยากทำ Startup ให้ลองเข้าไปในองค์ที่เขาเป็น Startup ตัวอย่างเช่นบริษัทของเรา ยินดีรับนักศึกษาที่เรียนจบใหม่ เพราะผมเคยได้รับโอกาสเช่นนี้มาก่อน และอยากให้โอกาสเช่นนี้กับบุคคลอื่นต่อไปอีก ที่บริษัทของเราตอนนี้ได้รับโปรแกรมเมอร์จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้ามาจากจังหวัดแพร่ เด็กคนนี้เขาศึกษาด้วยตนเอง สามารถทำเว็บไซต์ได้ดี และทำอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง เราจะรู้ตัวจริงๆ ว่าเราเป็นอย่างไร ชอบอะไร ก็สามารถรู้ได้เมื่อตอนที่เราทำงานนี้แหละ ตอนเรียนอยู่บางครั้งไม่รู้หรอกว่าเราชอบอะไร เรียนตามเพื่อน เรียนตามพ่อแม่อยากให้เรียน เรียนตามสังคม อยากจะฝากเด็กรุ่นใหม่เอาไว้ เพราะสังคมปัจจุบันไม่เหมือนรุ่นสมัยก่อน เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป แต่อยากฝากคำหนึ่งไว้ว่าคือ “ความอดทน” ผมเคยได้ฟังแจ็ค หม่า พูดไว้ว่า “วันนี้ยากลำบาก พรุ่งนี้ยากกว่า วันต่อไปยากกว่าอีก”.



บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพล  พรหมมาพันธุ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.