Header Ads

เด็กนิเทศฯ SPU ไอเดียสุดเจ๋งออกแบบงานภาคปฎิบัติด้วย THE SIMS 4


เด็กนิเทศฯ SPU ไอเดียสุดเจ๋งออกแบบงานภาคปฎิบัติด้วย THE SIMS 4

มีคำถามมากมายเมื่อมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ 100% ในรายวิชาปฎิบัติและต้องใช้อุปกรณ์หลักในห้อง Lab ทำให้อาจารย์หลายท่านคงยังไม่แน่ใจ และไม่มั่นใจ ว่าในการจัดการเรียนการสอน ภาคปฎิบัติรูปแบบออนไลน์นั้น จะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด วันนี้ทางศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน เลยขอยกตัวอย่างผลงาน การสอนภาคปฎิบัติของนักศึกษา รายวิชา RTV305 การผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดย อาจารย์สมชาย บูรพามงคลชัย ศูนย์มีเดีย เป็นผู้สอนภาคปฏิบัติ ว่ามีความพิเศษอย่างไร

เดิมทีในการจัดการเรียนการสอนของ รายวิชา RTV305 การผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ 1 จะต้องเรียนภาคปฎิบัติในสตูดิโอ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้สอน และผู้เรียนไม่สามารถเข้าไปฝึกปฎิบัติในสตูดิโอ และสถานที่จริงได้ โดยโจทย์ที่ทางอาจารย์ผู้สอนได้กำหนดไว้ คือ ให้ออกแบบการผลิตรายการวาไรตี้โชว์ ตามตำแหน่งใน สายการผลิตนั้น ๆ อาทิ Producer, Switcher, Sound Engineer, CG, VTR, Stage, Gaffer, MC เป็นต้น ซึ่งนักศึกษาสามารถออกแบบได้เองตามความต้องการ โดยสามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดที่สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของตนเอง นำเสนอผลงานที่ผลิต ให้สามารถนำมาใช้ได้จริง และนำไปต่อยอดในอนาคตต่อไป


โดย นายธนวัฒน์ ทองเทพ นักศึกษาสาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ชั้นปีที่ 3 กล่าวว่า
จากโจทย์ที่ได้รับ นักศึกษาได้รับมอบหมายในตำแหน่ง Stage มีหน้าที่ออกแบบเวที และออกแบบการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ โดยผู้เรียนได้เสนอความคิดกับอาจารย์ผู้สอนว่าต้องการออกแบบเวที โดยใช้ THE SIMS 4 ซึ่งเป็นเกมที่คุ้นเคยและถนัด เพื่อให้คนในทีม และให้อาจารย์เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เพราะเป็นโปรแกรมเกมที่มีอุปกรณ์จำลองเสมือนจริง ในการออกแบบฉากและเวที ช่วยให้คนที่ทำงานเข้าใจตำแหน่งงานของตนเองได้ดีขึ้น


ทำไมต้องเป็น THE SIMS 4 ?
เป็นรูปแบบเกมที่ผู้เรียนถนัดและมีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของโปรแกรม และเป็นโปรแกรมที่มีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยออกแบบงาน Stage ได้ดี เป็นที่รู้จักของกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้วด้วย แต่ THE SIMS 4 ก็จะมีของจำกัด คือ หากเราต้องการอุปกรณ์บางอย่างที่นอกเหนือจากที่มี จำเป็นต้องซื้อเพิ่มโดยราคาก็ไม่แพงมาก


มีขั้นตอนการสร้างและออกแบบยังไง ?
1. สร้างตัวห้องเป็นห้องสี่เหลี่ยม (นึกภาพห้องสตูดิโอ)
2. คิดออกแบบฉากและเวทีในห้องสี่เหลี่ยมตามหลักการ โดยเสนอความคิดด้วยตนเอง
3. จัดวางอุปกรณ์ตกแต่ง เช่น โซฟา ไฟ เวที เป็นต้น
4. จัดวางทิศทางของแสงในพื้นที่ให้มีความเหมาะสม
5. จัดรูปไอคอน "คน" ลงในแต่ละตำแหน่งของพื้นที่ห้องสตูดิโอ
6. ทบทวนตรวจสอบ ปรับเช็คความเรียบร้อยของผลงาน

ถ้าต้องการพัฒนางานออกแบบของตนเองใน THE SIMS ให้ดีขึ้นไปมีแนวทางอย่างไร ?
1. กล้านำเสนอรูปแบบความคิดเห็นของตนเอง ในรูปแบบที่เราถนัด ให้ผู้อื่นรับรู้
2. รับความคิดเห็นจากผู้อื่นมาปรับปรุงแก้ไข ทำให้เกิดการยอมรับ
3. เรียนรู้พัฒนาการใช้โปรแกรมให้มีความชำนาญและกล้าที่จะนำไปใช้กับงานอื่น ๆ

ถ้านำ THE SIMS มาใช้ในการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนมีความคิดเห็นอย่างไร ?
1. เป็นข้อดีและน่าตื่นเต้น เพราะในกลุ่มผู้เรียนมีความเข้าใจและรู้จักโปรแกรมนี้เป็นอย่างดี
2. จะช่วยให้การเรียนน่าสนใจมากขึ้นผู้เรียนมีความสุขกับสิ่งที่คุ้นเคย
3. โปรแกรมมีลูกเล่นหลากหลาย ทำให้การเรียนสนุกขึ้น


เมื่อนำเสนออาจารย์ว่าจะออกแบบด้วย THE SIMS อาจารย์ตอบรับ เรารู้สึกอย่างไร ?
ดีใจและตื่นเต้น ที่จะได้แสดงความรู้ที่เราถนัดให้กับเพื่อนและคนอื่น ๆ ได้เห็น และเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นทำชิ้นงานออกมาให้ดีที่สุด

จากเนื้อเรื่องข้างต้น จะเห็นได้ว่าการจัดการเรียนการสอน ภาคปฎิบัติในรูปแบบออนไลน์ สามารถทำได้ และทำได้ดีด้วย โดยผู้เรียนได้นำเอาประสบการณ์ของตัวเอง คือ การเล่นเกม THE SIMS มาปรับใช้กับการเรียน และการปฎิบัติงาน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุก ได้ใช้ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบงานให้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ และยอดเยี่ยม และเมื่อได้รับการเสริมแรงจากผู้สอน ด้วยการชื่นชมในตัวนักศึกษา ก็จะทำให้เขามีกำลังใจ และรู้สึกภูมิใจในตัวเองมากขึ้นด้วย

สุดท้ายนี้ การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ อาจารย์ผู้สอนสามารถกระทำได้ โดยการเปิดใจ เปิดรับ สิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในมุมของเขา เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

ขอขอบคุณอาจารย์ผู้สอน
อาจารย์สมชาย บูรพามงคลชัย ภาคปฏิบัติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัฐสภา แก่นแก้ว ภาคทฤษฎี



ภาพผลงานนักศึกษา







ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.