Header Ads

Internet of Things: เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

     เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ร่วมกันจัดเสวนาพิเศษ Tech Talk ในรายวิชา BUS200, CSC200 และ CSE200 บัณฑิตในอุดมคติ ให้ความรู้กับนักศึกษา เรื่อง เรื่อง Internet of Things (IoT) เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร คือ ดร.สุรชัย ทองแก้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ณ ห้อง Auditorium อาคาร 40ปี มหาวิทยาลัยศรีปทุม พอประมวลสรุปความได้ ดังนี้

     เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่กล่าวนี้คือ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ตามความหมายของ  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีให้ความหมายเอาไว้ว่า อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (IoT) หมายถึง เครือข่ายของวัตถุ อุปกรณ์ พาหนะ สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของอื่นๆ ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ฝังตัวอยู่ และทำให้วัตถุเหล่านั้นสามารถเก็บบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งทำให้วัตถุสามารถรับรู้สภาพแวดล้อมและถูกควบคุมได้จากระยะไกลผ่านโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถผสานโลกกายภาพกับระบบคอมพิวเตอร์ได้แนบแน่นมากขึ้น ผลที่ตามมาคือประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ก่อนที่จะมาถึงอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรืออินเทอร์ของสรรพสิ่ง (IoT) จะมีอีกระบบหนึ่งที่เรียกว่า ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded systems)

     เนื่องจากปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล คอมพิวเตอร์แบบวางตัก (Laptops) เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ให้บริการ (Server) ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีคือ คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) โดยปกติแล้วสินค้าอุปโภคบริโภคที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันก็ล้วนแล้วแต่บรรจุไปด้วย ซิฟคอมพิวเตอร์, หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยความจำ และส่วนของชุดคำสั่ง (Program) แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์, รถยนต์, เครื่องซักผ้า, สมาร์ทโฟน, ไมโครเวฟ, เครื่องเล่น เอมพี 3, จีพีเอส, สัญญาณเตือนภัยภายในบ้าน, เราเตอร์เครือข่าย, เกมคอนโซล อุปกรณ์เหล่านี้บรรจุไปด้วยซิฟคอมพิวเตอร์ที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกันออกไป เพราะวัตถุประสงค์ในการผลิตออกมาใช้งานเฉพาะด้านอย่างจำกัด เช่น โทรศัพท์มือถือเมื่อก่อน ตอนผลิตออกครั้งแรก วัตถุประสงค์คือ เพื่อโทรออกและรับสายเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้เพื่อการประมวลผลคำได้, และยังมีอุปกรณ์ชนิดอื่นๆ ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้งานเฉพาะทาง เช่น เพื่อใช้ในการผลิตสินค้า, เพื่อใช้ในการวัดแสง, เพื่อใช้ในการตรวจวัด, เครื่องเอทีเอ็ม, เครื่องคีย์อ๊อส (Kiosks), เครื่องมือแพทย์, อากาศยาน, และดาวเทียม เป็นต้น  อุปกรณ์เหล่านี้ยังมีกำลังในการประมวลผลที่จำกัด และมีกำลังไฟจำกัด และมีข้อมูล จำกัดการเก็บรักษา ต่อมาได้มีการผลิตคอมพิวเตอร์ให้มีความฉลาดมากขึ้น (Intelligence) ด้วยการเชื่อมโยงของอินเทอร์เน็ต สามารถกำหนดค่า สามารถกำหนดความเป็นบุคคล สุดแล้วแล้วจะเขียนให้โปรแกรมสั่งทำงานอย่างไร สามารถทำได้เกือบทั้งหมด


     ผลกระทบของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เรียกกันว่า เป็นเทคโนโลยีที่มีผลทำโลกมีการเปลี่ยนอย่างใหญ่หลวงการเติบของของ Internet of Things เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในเว็บไซต์ http://www.securitysystems.in.th มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีได้คาดการณ์กันว่าภายในปี ค.ศ.2020 เทคโนโลยี IoT จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ในโลกนี้เข้าไว้ด้วยกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 – 3 หมื่นล้านชิ้นเลยทีเดียว เพราะในขณะนี้เทคโนโลยี IoT ได้รับความนิยมและมีผู้คนให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ โดยมีเงินลงทุนหมุนเวียนในขณะนี้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กรณีศึกษาของผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT ที่เริ่มมีการพัฒนาและทดลองใช้งานจริงดังต่อไปนี้

     กรณีศึกษาที่ 1  เว็บไซต์ Amazon.com ซึ่งเป็นเว็บขายสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของสหรัฐอเมริกา ได้ทดลองเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มีชื่อว่า Amazon Dash Button ให้บริการแก่ลูกค้าคนสำคัญฟรี โดยที่ลูกค้าต้องเข้าไปลงทะเบียน (Sign Up) ก่อนเพื่อรอรับ Dash Button ของสินค้าแต่ละชนิดของโลโก้แบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า ผงซักฟอก กาแฟ ขนมขบเคี้ยว รวมไปถึงประเภทของอาหารแช่แข็ง ที่สามารถใส่ไว้ในตู้เย็นได้ เช่น ซอสมะเขือเทศ นม เห็ด กุ้ง เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้ต้องมีสมาร์ทโฟนที่ได้ทำการติดตั้ง Application ของ Amazon เอาไว้แล้ว โดยมีการใช้งานผ่านเครือข่าย Wi-Fi วิธีใช้กดปุ่มสั่งสินค้า หรือพูดใส่ Dash Buttons เพื่อสั่งสินค้าเข้ามาเพิ่มเติมเมื่อสินค้าใกล้จะหมด และ Amazon ก็จะทำการจัดส่งสินค้าให้ถึงบ้าน เมื่อใช้เสร็จก็ติด Dash Button ไว้ที่ตู้เย็นดังเดิม


     กรณีศึกษาที่ 2       Smart City เมืองอัจฉริยะ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ IoT เช่น มีการเก็บข้อมูลของสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ รวมไปถึงระบบจราจรอัจฉริยะ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ กล้องจะทำการถ่ายภาพและส่งข้อมูลไปเก็บไว้บน Cloud หรือกลุ่มของก้อนเมฆ เสร็จแล้วข้อมูลที่ถูกเก็บไว้จะถูกดึงมาทำการวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุต่อไป หรือในกรณีที่มีการจราจรติดขัดมาก ก็จะได้รับการแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้น เรียกว่า Data Analytics เป็นการบูรณาการข้อมูล Big Data จาก CCTV, Sensors, ITS มาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการให้จังหวัดภูเก็ตนำร่องเพื่อเป็น Smart City ในยุค Thailand 4.0 


     กรณีศึกษาที่ 3  Len-Nam (เล่นน้ำ) เป็นผลของนายอานนท์ บุญยประเวศ ศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และ CEO & CO-FOUNDER ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคฟาร์ม Len-Nam คือ เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่ต้องการลดความเสี่ยงของปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากน้ำที่ไม่เหมาะสม เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของสัตว์น้ำ และเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ซึ่งการทำงานของเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำนั้นต้องนำเครื่องมือลงไปแช่ในน้ำที่ต้องการจะตรวจสอบ จากนั้นก็เปิดแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์ โดยเกษตรกรสามารถตั้งค่าวัดไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทราบความผิดปกติของน้ำได้ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่ค่าน้ำมีความผิดปกติ ตัวเครื่องมือจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

     ในกรณีศึกษาทั้ง 3 กรณีของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) จะเห็นได้ว่า มีการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายอย่างประกอบกัน คือ ตัวฮาร์ดแวร์ (Hardware) คือตัวเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ, ซอฟต์แวร์ (Software) คือ ส่วนของชุดคำสั่งที่เขียนให้ระบบทำงานได้, การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Connectivity), ข้อมูล (Data) คือ ข้อมูลของสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกดึงมาทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ, และความฉลาด (Intelligence) ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นมีความเฉลียวฉลาด สามารถคาดการณ์และทำนายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง.


โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพล พรหมมาพันธุ์
อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.