Header Ads

ยุคการตลาดไร้ขอบเขตกับ Digital Marketing เรียนรู้การทำตลาดออนไลน์ยุคใหม่

     เมื่อวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับคณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง จัดเสวนาพิเศษ Tech Season 2#5 ในหัวข้อ “ยุคการตลาดไร้ขอบเขตกับ Digital Marketing เรียนรู้การทำตลาดออนไลน์ยุคใหม่” โดย คุณมิ่งขวัญ พุคยาภรณ์ ผู้บริหารสาวสวย คนรุ่นใหม่ไฟแรงแห่ง SPU ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ณ ห้อง Auditorium 1 อาคาร 40 ปีมหาวิทยาลัยศรีปทุม พอสรุปประมวลความได้ดังต่อไปนี้

     
     คุณมิ่งขวัญเล่าว่า เธอได้ไปศึกษาต่อที่ประทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนแรกคิดจะเรียนทางด้าน Finance แต่ได้มาเรียนทางด้าน Digital Marketing การเรียนในต่างประเทศต้องเป็นคนกล้าพูดกล้าแสดงออก ส่วนในเรื่องหลักของการตลาดนั้นเป็นเรื่องกว้างมาก ที่เราเรียนกันส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของ Marketing Mix (4Ps) คือ  (1) ผลิตภัณฑ์ (Product) (2) ราคา (Price) (3) สถานที่ (Place) และ (4) การโปรโมท (Promotion)  สำหรับการเรียนรู้เรื่องดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง และระบบการจัดเก็บข้อมูลนั้น หากจะถามว่า ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง คือ อะไร ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง คือ การสื่อสารกับลูกค้าให้ถูกที่ ถูกเวลา โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก สำหรับโปรโมชั่น คือการโปรโมท ต้องนำสินค้าของเราไป โปรโมทในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของเรา เช่น เสื้อผ้า, สิ่งของ, น้ำ เป็นต้น ส่วนคำว่า Digital เป็น Term คำศัพท์ เช่นเดียวกับคำว่า e-mail, Search engine ส่วน Social เช่น Facebook, Line โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของดิจิตอล ข้อดีของการทำตลาดออนไลน์ คือ (1) เพิ่มฐานลูกค้า (2) ช่วยให้เราเข้าถึงลูกค้าของเราได้ง่าย และเจาะจงมากขึ้น (3) สามารถวัดผลตอบรับได้ (4) เป็นการสื่อสารแบบ Real-Time (5) มีข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้เว็บไซต์ของเรา (6) ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดของเราให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้ง่ายขึ้น ในการดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งนั้น Big Data ก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องพฤติกรรมของลูกค้า การขายออนไลน์นั้น เวลาที่ลูกเข้ามาคลิกที่เว็บไซต์ตรงไหนเราก็รู้ เพราะในเว็บมีโปรแกรมคุ๊กกี้ ติดตามพฤติกรรมของลูกค้าเอาไว้ เช่น ลูกค้าเข้ามาคลิกดูที่รองเท้าคู่นี้ โปรแกรมคุ๊กกี้ก็จัดเก็บพฤติกรรมเอาไว้ โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด เมื่อก่อนป้ายโฆษณา (Billboard) ที่ติดป้ายกันไว้ไม่รู้ว่ามีคนดูกี่คน แต่ในระบบออนไลน์สามารถทราบได้ว่า มีลูกค้าเข้ามาคลิกดูกี่คน ดังนั้น เราควรใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเรา
การทำตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน สามารถทำได้หลายแนวทาง ได้แก่ เว็บไซต์, บล็อกโพสต์, อีบุ๊ค, อินโฟกราฟิกส์, โซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Twitter, โบว์ชัวร์ออนไลน, และแบรนด์ดิ้งของเราเอง ซึ่งแบรนด์ดิ้งของเรานั้นเปรียบเสมือนเค็ก ตัวของเราเองเหมือนเนื้อเค็ก ต้องดูว่าเราจะขายอย่างไร วิธีการทำตลาด วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ Search Engine Optimization (SEO) เราต้องพัฒนาเว็บไซต์ของเราให้สวยงามน่าสนใจ และใส่คำสำคัญ (Keyword) และทำ URL ให้ตรงกับเนื้อหาและความต้องการค้นหาของลูกค้า การทำ Search Engine มีอยู่ด้วยกัน 2 อย่างคือ (1) แบบจ่ายเงิน (2) แบบไม่เสียเงิน ลักษณะเป็นเสมือน Organic คือ มีสินค้าที่ดีจริง บริสุทธิ์ เดี๋ยวก็มีลูกค้า Search เข้ามาหาเอง


     ส่วนคำว่า Content Marketing หมายถึง เนื้อหาของสินค้า สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การขายยาแก้ปวดหัว ไม่ควรโพสต์ขายยาโดยตรง แต่ต้องให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย การทำการตลาดมีหลายลักษณะ คือ (1) Inbound marketing เป็นลักษณะการทำการตลาดที่ดึงลูกค้าเข้ามาหาเรา ผ่านกระบวนการสร้างคอนเทนต์ที่ดี และส่งข้อมูลออกไปให้คนเห็นกันเป็นจำนวนมาก เพื่อมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้าเรียกกันว่าเป็นการให้คุณค่า ให้ความรู้ และให้ข้อมูลที่ดีที่ถูกต้องแก่ลูกค้า เช่น การทำ SEO ก็เข้าข่ายการทำตลาดในลักษณะนี้ (2) Outbound marketing เป็นลักษณะการทำตลาดแบบขายออก หรือแบบผลักออก ได้แก่ การโฆษณาทางโทรทัศน์ การออกบูธแสดงสินค้า หรือทางออนไลน์ เช่น การติดป้ายแบนเนอร์ หรือการซื้อรายชื่ออีเมลลูกค้าเพื่อมาทำการกระจายส่งการโฆษณา (3) Social Media marketing การทำตลาดลักษณะนี้ ปัจจุบันนิยมทำกันมาก เช่น บน Facebook หรือ Twitter สื่อสังคมออนไลน์มีผลอย่างมากในการทำตลาด เพราะแทนที่เราจะออกไปหาลูกค้า แต่เป็นการทำให้ลูกค้ากลับเข้ามาหาเรา เป็นการช่วยประหยัดเวลาได้มาก (4) Pay-Per-Click Ads เป็นรูปแบบการทำโฆษณาที่มีการคิดค่าใช้จ่ายเมื่อมีการคลิกเข้ามาดูโฆษณา เช่น Google AdWords และ Google AdSense ซึ่งปัจจุบันนิยมทำกันมากโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ (5) Affiliate marketing เป็นลักษณะการทำการตลาดที่ผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการที่นำเอาผลิตภัณฑ์สินค้าหรือการบริการของผู้อื่นไปโปรโมทบนเว็บเว็บไซต์ของตนเอง และเมื่อขายสินค้าได้ก็จะได้รับค่าคอมมิชชั่น เช่น เว็บ  EBATES ทุก 4 เดือนจะมีการโอนเงินเข้ามาให้ ด้วยการนำเอาเว็บไซต์ของตนมาผูกกับเว็บไซต์ EBATES สำหรับในประเทศไทยอาจจะมีเหมือนกันแต่คนยังไม่ค่อยเชื่อมั่น (6) Marketing Automation เป็นลักษณะการพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมา พร้อมมีฐานข้อมูลของลูกค้าอยู่ด้วย และทำให้เกิดกิจกรรมทางการตลาดได้โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ ทางอีเมล หรือทางโซเชียลมีเดีย (7) E-mail Marketing เป็นการทำตลาดผ่านอีเมล ซึ่งก่อนหน้าก็เป็นที่นิยมกันมาก และเป็นการทำตลาดถึงลูกค้าโดยตรง
หลายคนอาจมีข้อกังวลว่า แล้วจะเริ่มต้นการทำ Digital Marketing ตรงไหนดี ให้นึกดูว่า ถ้าเราเป็นลูกค้า เราอยากได้อะไร ขายสินค้าให้กับคนประเทศไหน อายุเท่าใด  ต้องมีการกำหนดเป้าหมายการทำการตลาดให้ชัดเจน ต้องสร้างความเข้าใจกับกลุ่มลูกค้าของเรา โดยการทำวิจัยตลาด สัมภาษณ์ลูกค้าโดยตรง แบบสอบถามต้องโฟกัสกรุ๊ป และที่สำคัญต้องมีการประเมินผล และปรับตามความเหมาะสม มีการเก็บสถิติ อย่างเช่น ห้าง Central เขาก็ขายสินค้าไม่เหมือนกัน หรือ 7Eleven ในแต่ละสถานที่เขาก็ขายสินด้าไม่เหมือนกัน แล้วมาร์เก็ตติ้งกับระบบการจัดการข้อมูลเกี่ยวข้องกันอย่างไร? ก็สามารถให้คำตอบได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะการทำมาร์เก็ตติ้งก็ต้องมีระบบข้อมูลลูกค้า มีการจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมา มีการจัดวางระบบให้คนเข้าใจง่าย มีการประมวลผลข้อมูลทางการขาย และกลยุทธ์ทางการตลาด สำหรับการสร้างแบบฟอร์มหรือแบบสอบถามลูกค้านั้นก็สามารถใช้ Q qualtrics ซึ่งโปรแกรมอำนวยความสะดวกในการสร้างแบบสอบถามคล้ายๆ กับ Google Form เป็นลักษณะการทำ Survey เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการวิเคราะห์ เช่น วิเคราะห์ด้วยโปรแกรม SPSS หรือ โปรแกรม Weka ส่วนในการจัดเก็บข้อมูลลูกค้า อาจใช้โปรแกรมประเภทฐานข้อมูลอย่างเช่น โปรแกรม MS-Access สำหรับภาษาที่ใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์อาจใช้โปรแกรม Python คล้ายกับภาษา Java ในเว็บ Datacamp  มีการสอน Python ให้ด้วย การพัฒนาเว็บไซต์ต้องทำให้เข้าใจง่าย มีการวางแผนผังให้ชัดเจนเรียกว่า Site Architecture นอกจากนั้น ยังต้องมีการทำ SEO และมีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีด้วย ดังนั้น การทำ Digital Marketing ที่ดี คือ (1) มีความสอดคล้องของกลยุทธ์ทางการตลาด (2) ถูกที่ ถูกเวลา (3) ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก “การตลาดที่ดี ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก” (4) เข้าใจลูกค้า (5) จัดทำเว็บไซต์ให้ใช้งานง่าย (6) กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และ สุดท้าย (7) ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอันล้นหลามในอินเทอร์เน็ตให้มากที่สุด คราวนี้ ต้องมาพิจารณาดูตัวเองว่า ถ้าเราเป็นนักบัญชี เราก็ต้องทำการตลาดเป็นด้วย ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นนักบัญชีที่เก่งด้วยเช่นกัน ส่วนนักไอที ต้องพิจารณาดูตัวเองว่า เราจะเรียนอะไร ซึ่งคนที่เรียนไอทีส่วนใหญ่จะมีข้อดี และมีคุณค่าอยู่แล้ว แต่ต้องปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์ และให้ถูกที่ ถูกเวลา จึงจะประสบความสำเร็จได้.

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุพล พรหมมาพันธุ์
อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม


ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.